ความรู้เรื่องโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น)
1. ไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาดตามข่าวอยู่ในขณะนี้คือโรคอะไร ?

โรคที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน ไม่พบว่ามีการติดต่อมาจากสุกร เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 (A/H1N1) ซึ่งเป็นเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เคยพบทั้งในสุกรและในคน เป็นเชื้อที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ซึ่งมีสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่คน ไข้หวัดใหญ่สุกร และไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกด้วย เริ่มพบการระบาดที่ประเทศเม็กซิโก และแพร่ไปกับผู้เดินทางไปในอีกหลายประเทศ ระยะแรก กระทรวงสาธารณสุขใช้ชื่อโรคนี้ว่า “โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก” และเมื่อองค์การอนามัยโลกได้ประกาศชื่อเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1” และใช้ชื่อย่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009”

2. คนติดโรคนี้ได้อย่างไร ?

คนส่วนใหญ่ติดโรคไข้หวัดใหญ่จากการถูกละอองฝอยไอจาม น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยโดยตรง หรือได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ลูกบิดประตู โทรศัพท์ แก้วน้ำ ก๊อกน้ำ แป้นคอมพิวเตอร์ แล้วใช้มือแคะจมูก ขยี้ตา ป้ายปาก โดยไม่ได้ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ก่อน ทั้งนี้ ไม่มีรายงานการติดเชื้อจากการรับประทานเนื้อหมู ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1 – 3 วัน น้อยรายที่นานถึง 7 วัน และอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย ช่วง 3 วันแรกจะแพร่เชื้อได้มากที่สุด และระยะแพร่เชื้อมักไม่เกิน 7 วัน แต่ในเด็กเล็ก อาจแพร่เชื้อได้นานถึง 10 วัน

3. อาการของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีอะไรบ้าง ?

อาการใกล้เคียงกับอาการโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบตามปกติ เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 90-95 อาการไม่รุนแรง สามารถหายป่วยได้ โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ผู้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ ภาวะอ้วน และหญิงมีครรภ์

4. โรคนี้รักษาได้หรือไม่ อย่างไร ?

เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 90-95  อาการไม่รุนแรง  สามารถหายป่วยได้เองหรือการรับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล  (ห้ามใช้ยาแอสไพริน)  โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล  ดังนั้น  ผู้ที่อาการไม่มาก เช่น ไข้ต่ำๆ รับประทานอาหารได้  อาจไปพบแพทย์ที่คลินิก หรือขอรับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน  และดูแลรักษาที่บ้านได้  ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น  ไข้สูง หายใจลำบาก หอบเหนื่อย  อาเจียน ท้องเสีย ซึม หรือ รับประทานยาลดไข้แล้ว 48 ชั่วโมง ไข้ยังไม่ลด  ต้องรีบไปพบแพทย์  เพื่อพิจารณาการให้ยาต้านไวรัสหรือรับไว้รักษาตัวที่โรงพยาบาล