เอ็นไขว้หน้าข้อเข่า (Anterior cruciate ligament) หรือ ACL

เป็นเส้นเอ็นขนาดใหญ่อยู่ภายในข้อเข่า ทำหน้าที่ร่วมกับเอ็นไขว้หลัง (Posterior cruciate ligament) ในการยึดกระดูกต้นขา(Femur) และกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) ไว้ด้วยกัน

การบาดเจ็บต่อเอ็นไขว้หน้าส่วนใหญ่จะเกิดจากการเล่นกีฬาปะทะรุนแรง และ มีการใช้ท่วงท่าโดยใช้ข้อเข่าบังคับทิศทาง ขณะเล่นกีฬา อาการในระยะแรกได้แก่ การมีข้อเข่าบวม เนื่องจากมีเลือดออกภายในข้อเข่า อาจมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ต่อมาผู้ป่วยจะรู้สึกว่าข้อเข่าหลวม ไม่มั่นคง มีอาการเข่าพลิกหรือข้อเข่าเคลื่อนออกจากกัน โดยเฉพาะเวลาบิดขา หรือเดินผิดท่าทาง ส่วนใหญ่จะไม่สามารถวิ่งซิกแซ็กได้ หรือวิ่งแล้วจะหยุดทันทีทันใดไม่ได้เนื่องจากข้อเข่าจะเคลื่อน บางทีอาจจะเข่าหลุดเลยก็มี ในรายที่มีการฉีกขาดของหมอนรองกระดูกข้อเข่า (Mencius) ซึ่งพบร่วมกันได้ คนที่เอ็นขาดแล้วยังเล่นกีฬาต่อไป จะมีอาการเจ็บตามแนวข้อต่อหรือมีอาการข้อเข่าติดร่วมด้วย บางทีเข่าล็อก การที่ข้อเข่าหลวมจะทำให้ส่วนอื่นๆของข้อเข่าได้รับบาดเจ็บได้ง่ายขึ้น และนำไปสู่ภาวะข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยเฉพาะถ้ายังใช้งานข้อเข่าต่อไป

การผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า (Anterior cruciate ligament reconstruction)

หมายถึงการผ่าตัดเพื่อเอาเส้นเอ็นอื่นมาทำหน้าที่แทนเอ็นไขว้หน้า เช่น บางส่วนของเอ็นลูกสะบ้า (bone-patellar tendon-bone) เอ็นกล้ามเนื้อด้านหลังข้อเข่า (hamstring) เป็นต้น เป็นการแก้ปัญหาข้อเข่าหลวมได้ดี อย่างไรก็ตามต้องใช้เวลาประมาณ 8 เดือน กว่าเส้นเอ็นใหม่จะแข็งแรงพอที่เราจะสามารถกลับมาวิ่งหรือเล่นกีฬาได้ และเราไม่สามารถที่จะทำให้เส้นเอ็นใหม่นี้แข็งแรงเท่าเส้นเอ็นดั้งเดิมได้ ส่วนใหญ่แล้ว มักจะผ่าตัดในคนอายุน้อยอยู่ และต้องการกลับไปเล่นกีฬาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ผ่าตัดแล้ว ต้องขยันทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อกลับมาให้ได้ปกติ ผลการรักษาจะมีประสิทธิภาพดีที่สุด

โปรแกรมกายภาพบำบัด (Recovery After ACL Reconstruction)

  • ระยะที่ 1 (สัปดาห์ที่ 1-2) ปรับสนับเข่าให้งอได้ 0-60องศา เดินลงน้ำหนักบางส่วนด้วยไม้ค้ำยันในท่าเหยียดเข่าตรง สัปดาห์ที่ 2ควรจะสามารถนอนหงายเหยียดเข่าสุดแล้วกระดกข้อเท้าเข้าหาตัวได้ ซึ่งจะทำให้สามารถเหยียดเข่าได้สุด บริหารโดยการกระดกข้อเท้าขึ้นลง วันแรกๆหลังจากนั้นเมื่อปวดเข่าลดลงให้นอนหงายและค่อยๆงอเข่าในลักษณะที่ส้นเท้าสัมผัสกับพื้นหลังจากนั้นเกร็งขึ้นค้างไว้ประมาณ 10 วินาทีปล่อยขาลง ให้ทำบ่อยๆเท่าที่จะทำได้
  • ระยะที่ 2 (สัปดาห์ที่ 3-4) ปรับสนับเข่ามาที่ 90องศา เดินลงน้ำหนักได้บางส่วน บริหารเข่าเหมือนระยะที่1 แต่เพิ่มจำนวนรอบให้มากขึ้น หลังสัปดาห์ที่ 4 ฝึกขี่จักรยานอยู่กับที่ บริหารกล้ามเนื้อโดยการยืนหลังชิดกำแพงย่อตัวขึ้นลงให้เข่าเคลื่อนที่ 0-45 องศา ปลายสัปดาห์ที่ 4เดินลงน้ำหนักได้เต็มที่โดยไม่ต้องใช้ไม้ค้ำยันแต่ต้องเดินในท่าเข่าเหยียดตรง
  • ระยะที่ 3 (สัปดาห์ที่ 5-6) ผู้ป่วยที่ใส่สนับเข่าควรจะสามารถเหยียดเข่าได้สุด และงอเข่าได้เต็มที่แพทย์อาจให้หยุดใช้สนับเข่าได้
  • ระยะที่ 4 (สัปดาห์ที่ 7-12) ฝึกบริหารมากขึ้นโดยปั่นจักรยานอยู่กับที่ปรับระยะ ฝืนให้มากขึ้นยืนเขย่งปลายเท้ายืนลงน้ำหนักเหยียดเข่าสุดแล้วกระดกข้อเท้าขึ้นฝึกขึ้นลงบันได ยืนลงน้ำหนักข้างที่ผ่าย่อตัวลงว่ายน้ำท่ากบ วิ่งในน้ำได้
  • ระยะที่ 5 (เดือนที่ 4-6) ผู้ป่วยควรงอเหยียดเข่าได้สุดและปราศจากความเจ็บปวด บริหารโดยการเดินและวิ่งเยาะๆ เริ่มวิ่งไปด้านหน้าและถอยหลัง ค่อยๆเพิ่มความเร็วตามลำดับ
  • ระยะที่ 6 (เดือนที่ 6 เป็นต้นไป) สามารถเล่นกีฬาตามปกติได้ประมาณเดือนที่ 6 โดยกล้ามเนื้อต้นขาควรได้ประมาณ 80-90 % ของข้างปกติ

ทีมแพทย์กระดูกและข้อ>>คลิ๊ก<<

ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ เวลาทำการทุกวัน 24 ชม. โทรศัพท์ 1715 หรือ 034-417-999 ต่อ 132 / 133