กระดูกพรุน

คือภาวะที่ความหนาแน่นของกระดูกลดลง และโครงสร้างของกระดูกเสื่อมลง จึงทำให้กระดูกเปราะบาง และมีโอกาสหักหรือยุบตัวได้ง่าย พบบ่อยในผู้สูงอายุหรือหญิงวัยหมดประจำเดือน

โรคกระดูกพรุน อันตรายอย่างไร

ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายที่สุดคือ กระดูกหัก บริเวณที่พบบ่อยได้แก่ กระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ กระดูกหักจะทำให้เกิดอาการปวดมากจนไม่สามารถใช้งานต่อได้ ต้องพักรักษาตัวเป็นเวลานานทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ปอดอักเสบ แผลกดทับ ภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นเหตุให้สุขภาพแย่ลงอย่างรวดเร็ว อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง

  1. ผู้สูงอายุ
  2. ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง
  3. การกินอาหารที่มีแคลเซี่ยมน้อย
  4. กรรมพันธุ์ มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
  5. เชื้อชาติ พบมากในคนผิวขาวหรือชาวเอเชีย
  6. สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟปริมาณมาก เป็นประจำ
  7. ขาดการออกกำลังกาย
  8. น้ำหนักตัวน้อย รูปร่างผอม
  9. โรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน ขาดวิตามินดี โรคไทรอยด์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  10. ใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากันชัก ยาขับปัสสาวะ

อาการของโรคกระดูกพรุน

ระยะแรกมักไม่มีอาการ แต่เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการปวดหลังเรื้อรัง หลังโก่งค่อม ความสูงลดลง กระดูกหักง่ายกว่าคนปกติแม้ไม่มีอุบัติเหตุที่รุนแรง

การวินิจฉัย

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงและสงสัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุนควรปรึกษาแพทย์ และตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกโดยใช้เครื่องวัดมวลกระดูกเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

การป้องกันโรคกระดูกพรุน

ในคนปกติ หลังอายุ 40 ปี ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกจะลดลง ดังนั้นจึงควรเสริมสร้างให้เนื้อกระดูกแข็งแรง โดยปฏิบัติดังนี้

  1. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม กุ้งแห้ง กะปิ ปลาเล็กที่กินได้ทั้งก้าง งาดำ ถั่วต่างๆ เต้าหู้ ผักใบเขียวเช่น ผักโขม คะน้า ใบชะพลู ใบยอ
  2. ลดอาหารที่มีไขมันมาก เนื่องจากไขมันจะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม
  3. ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี สม่ำเสมอ เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เพศและวัย เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ รำมวยจีน เต้นรำ
  4. ควรงดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน
  5. ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะยาบางชนิดทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง เช่น ยารักษาไทรอยด์ ยาสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ
  6. ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

การรักษาด้วยยา

ปัจจุบันมียารักษาโรคกระดูกพรุน 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. ยาช่วยลดการทำลายกระดูก เช่น แคลเซี่ยม บิสฟอตฟาเนต ฮอร์โมนแคลซิโตนิน
  2. ยาช่วยกระตุ้นการสร้างกระดูก เช่น ฮอร์โมนพาราไทรอยด์เทอริพาราไทด์
  3. ยาที่ช่วยทั้งกระตุ้นการสร้างและลดการทำลายกระดูก เช่น สตรอนเทียมรานิเลต

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไม่ต้องการเป็นโรคนี้ก็สามารถป้องกันได้ โดยการสะสมมวลกระดูกให้มากที่สุดในช่วงวัยเด็กและก่อนอายุ 35 ปี โดยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง จากการศึกษาพบว่า ความต้องการแคลเซียมในแต่ละวัยมีดังนี้

เด็กวัย 0-1 ปี 210-270 มิลลิกรัม
1-8 ปี 500-800 มิลลิกรัม
9-18 ปี 1000 มิลลิกรัม
19-50 ปี 800 มิลลิกรัม
>50 ปี 1000 มิลลิกรัม
หญิงวัยหมดประจำเดือนและหญิงให้นมบุตร 1000-1500 มิลลิกรัม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเอกชัย โทร. 1715 หรือ 034-417-999 ต่อ 132, 133

View our Specialists in our Orthopaedic Doctors Page