อย่าลืมตรวจสุขภาพก่อนที่จะ “สายเกินไป”
ทำไม Health Check-Ups หรือ การตรวจสุขภาพ ถึงสำคัญ
ปัญหาสุขภาพสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการหมั่นดูแลตรวจเช็คสุขภาพของเราอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เราสามารถรับรู้ปัญหาสุขภาพ รู้จักวิธีดูแลตนเองก่อนที่จะ “สายเกินไป” ซึ่งหากไปตรวจสุขภาพแล้วเกิดพบเจอปัญหาตั้งแต่เริ่มแรกนั้นเป็นเรื่องที่ดี
การตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำ อาจเปรียบเสมือนกับการที่เราหมั่นเช็คสภาพรถอย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งร่างกายของเราก็เช่นกัน ที่จำเป็นจะต้องมีการตรวจเช็คสุขภาพอยู่เป็นประจำเพื่อลดอัตราความเสี่ยงที่อาจเกิดโรคต่างๆ และยังสามารถเข้าไปช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษานั้นๆให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย
กลุ่มคนที่ควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี
เราสามารถแบ่งกลุ่มคนที่ควรตรวจสุขภาพได้ 4 กลุ่ม ดังนี้
  1. กลุ่มเด็กและวัยรุ่น (อายุ 0-18 ปี) สุขภาพของกลุ่มเด็กช่วงวัยนี้ ส่วนมากจะถูกดูแลมาตั้งแต่แรกเกิด โดยพ่อแม่เป็นผู้ดูแลหลัก
  2. กลุ่มวัยทำงาน (อายุ 18-60 ปี) กลุ่มช่วงวัยนี้เป็นกลุ่มที่การดูแลสุขภาพส่วนใหญ่ จะขึ้นอยู่กับ “ตนเอง” เป็นหลัก
  3. กลุ่มวัยผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) กลุ่มช่วงวัยนี้ส่วนใหญ่เรื่องการดูแลสุขภาพส่วนใหญ่ จะไปอยู่ที่กลุ่มวัยทำงาน หรือลูกหลานที่เป็นผู้ดูแล
  4. กลุ่มหญิงมีครรภ์ กลุ่มนี้การดูแลสุขภาพจะเน้นไปทางสุขภาพของทั้งแม่และลูกร่วมกัน
“การตรวจสุขภาพ” วัยไหนควรตรวจอะไรบ้าง

1.กลุ่มเด็กและวัยรุ่น จะมุ่งเน้นไปที่การตรวจร่างกายทั่วไป (ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง) เพื่อค้นหาความผิดปกติ ประเมินการเจริญเติบโตตามวัย และเฝ้าระวังด้านพัฒนาการเป็นระยะ รวมไปถึงการให้วัคซีนต่างๆ ตามกำหนดเวลาเพื่อป้องกันการเกิดโรค

2. กลุ่มวัยทำงาน จะมีการประเมินภาวะสุขภาพหาความเสี่ยงของโรค โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ครอบครัวมีประวัติป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ร่วมกับการตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจสุขภาพช่องปาก ตรวจการได้ยิน การตรวจทาพิ่มเติงห้องปฏิบัติการหรือการตรวจแล็ป

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วผู้หญิง ควรมีการตรวจเต้านม คือ

  • ตรวจเต้านม อายุ 30-39 ปี ควรตรวจเต้านมทุกๆ 3 ปี และอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมเป็นประจำทุกปี
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อายุ 30 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองด้วย Pap’s smear ทุก 3 ปี หรือวิธีป้ายหาความผิดปกติโดยใช้กรดอะซิติก (VIA) ทุก 5 ปี หากอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจด้วยวิธี Pap’s smear แม้ว่าจะเคยหรือไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็ตาม ซึ่งการตรวจร่างกายดังกล่าวควรตรวจปีละครั้ง หรือทุกครั้งที่ไปพบแพทย์ด้วยเรื่องอื่น

3. กลุ่มวัยผู้สูงอายุ นอกจากการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐานแล้ว ผู้สูงอายุทั้งเพศชายและหญิงควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม คือ การตรวจตา ตรวจอุจจาระ การประเมินภาวะสุขภาพ การตรวจสุขภาพทางห้องปฏิบัติการ และสำหรับผู้สูงอายุเพศหญิงจะเพิ่มการตรวจเต้านม และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย

4. กลุ่มหญิงมีครรภ์ โดยทั่วไปจะแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ 5 สัปดาห์ขึ้นไป มาฝากครรภ์และควรไปตรวจตามนัดทุกระยะ ตั้งแต่อายุครรภ์ 5-12, 13-18, 19-26, 27-32 และ 33-38 สัปดาห์ ซึ่งการตรวจสุขภาพหญิงมีครรภ์จะช่วยในเรื่องการคัดกรองการติดเชื้อหรือภาวะผิดปกติที่สามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้

อย่างไรก็ตามปัญหาสุขภาพนั้นสามารถเกิดได้ทุกช่วงวัย ซึ่งแต่ละบุคคล แต่ละช่วงวัยก็จะมีปัจจัยเสี่ยงแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การรับประทานอาหาร และการทำงาน เป็นต้น ดังนั้นเราทุกคนควรให้ความสำคัญกับสุขภาพ ก่อนที่จะได้ยินคำว่า “สายเกินไป”