เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิของอากาศก็ยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยมีความเสี่ยงต่อการเกิด “โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก (Heatstroke)” ได้ง่ายๆ

โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) มักเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหัน เนื่องมาจากความผิดปกติของระบบควบคุมอุณหภูมิของร่างกายเมื่อร่างกายอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ซึ่งมักมีสาเหตุหลักๆ เกิดจากการทำงาน การใช้แรงงาน หรือออกกำลังกายอย่างหนักในสภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงจนเกินไป

อาการของ “โรคลมแดด” เป็นอย่างไร ?

เริ่มแรกจะมีอาการหน้าแดงก่ำ ผิวหนังแห้งและร้อน แต่ไม่มีเหงื่อออก การหายใจเร็วและถี่ มีอาการกระหายน้ำมาก อาจคลื่นไส้ อาเจียน มีความดันโลหิตเริ่มลดลง เวียนศีรษะ มึนงง หน้ามืด มีเสียงในหู อ่อนเพลียไม่มีแรง มีอาการแน่นหน้าอก ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วมาก หากอุณหภูมิของร่างกายมีความร้อนสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส บางรายอาจเป็นมากถึงขั้นชัก เกร็ง หมดสติ หรือเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

หากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการเหล่านี้นานเกินไป หรือไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้มากกว่า 2 ชั่วโมง อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ ซึ่งหากนำไปส่งโรงพยาบาลช้าหรือได้รับการรักษาที่ล่าช้า อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

เคล็ดลับการดูแลตนเองในฤดูร้อนให้ห่างไกลจาก “โรคลมแดด” ที่แพทย์แผนจีนแนะนำ

  • พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงและความชื้นสูงเป็นเวลานาน
  • เมื่อสภาพอากาศภายนอกร้อนเกินไป แนะนำให้เลือกพักอยู่ในสภาพอากาศที่เย็นกว่าเป็นระยะ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย
  • ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง
  • จิบน้ำบ่อยๆ ถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการกระหายน้ำก็ตาม
  • ดื่มเกลือแร่เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำในร่างกาย
  • รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • สามารถรับประทานรากบัว เม็ดบัว วอลนัท นมวัว เพื่อช่วยในการบำรุงระบบประสาท สงบจิตใจ
  • สามารถรับประทานเห็ดหูหนูดำ หัวไชเท้า ถั่วลันเตา เต้าหู้ สาลี่หิมะ และชาดอกลิลลี่ ที่มีฤทธิ์ในการช่วยบำรุงปอดได้
  • สามารถรับประทานผักขึ้นฉ่าย แตงโม ลูกพลัม ต้มถั่วเขียว และชาดอกเก๊กฮวย ซึ่งจะมีฤทธิ์ช่วยลดความร้อนในร่างกายได้ดี
  • ในด้านของการนอน แนะนำไม่ควรนอนดึกจนเกินไป เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ไม่ทำให้อ่อนเพลีย แนะนำควรเข้านอนไม่เกิน 5 ทุ่ม เนื่องจากเวลาตั้งแต่ 5 ทุ่ม ถึง ตี 3 คือ เวลาของเส้นลมปราณตับและถุงน้ำดี
  • ใช้วิธีการกัวซาโดยแพทย์แผนจีน สามารถช่วยลดอัตราความเสี่ยงในการเป็นลมแดดได้ เนื่องจากจะช่วยขับพิษร้อน กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ช่วยลดการติดขัดของการไหลเวียนเส้นลมปราณ ปรับสมดุลอิน-หยาง และช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้

บทความโดย แพทย์จีนจุฑารัตน์ บุญสุธารมณ์ แพทย์แผนจีนประจำโรงพยาบาลเอกชัย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่แผนกแพทย์แผนจีน รพ.เอกชัย
โทร.034-417999 หรือ 1715 ต่อ 201