“โรคแพนิค” (Panic Disorder) ถือเป็นอาการวิตกกังวลแบบเฉียบพลันที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Automatic Nervous System) ทำงานผิดปกติ ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยทางคลินิก และพบได้เยอะขึ้นในปัจจุบัน

โรคแพนิค จัดอยู่ในกลุ่มอาการวิตกกังวลแบบรุนแรง หรือ แบบตื่นตระหนก ซึ่งจะเกิดขึ้นซ้ำๆ โดยมีลักษณะพิเศษ คือ จะเกิดขึ้นอย่างกะทันหันและไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ ระดับของปฏิกิริยาการกังวลจะเป็นแบบรุนแรง ผู้ป่วยมักจะรู้สึกกลัวและตื่นตระหนกกับผลของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นแบบรุนแรง แต่จะสามารถหายจากอาการกังวลดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน และมักมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติแปรปรวนร่วมด้วย เช่น เหนื่อยง่าย มีอาการชาตามมือ-เท้า กล้ามเนื้อตึงเกร็ง มือ-เท้าเย็น กระวนกระวายอยู่ไม่นิ่ง เป็นต้น

อาการของโรคแพนิคเบื้องต้น มีอะไรบ้าง ?

  • ใจสั่น ใจหวิว รู้สึกหัวใจเต้นเร็ว
  • เหงื่อออกมาก
  • มือสั่น ตัวสั่น
  • หายใจเร็วสั้น
  • แน่นหน้าอก
  • คลื่นไส้ อาเจียน ท้องไส้ปั่นป่วน
  • มึนศีรษะ ตาลาย
  • มีอาการร้อนๆ หนาวๆ

วิธีรับมือกับอาการแพนิค

  1. ควรไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษา
  2. ไม่ควรบรรเทาอาการด้วยการดื่มสุรา หรือใช้ยานอนหลับ เพราะอาจทำให้อาการจะรุนแรงขึ้นได้
  3. ลดหรืองด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และรวมถึงเครื่องดื่มประเภทโคล่าทุกชนิด
  4. ออกกำลังกายอย่างพอดี ตามความสามารถของตนเอง
  5. เมื่ออาการต่างๆ ทุเลาลงแล้ว อาจจะลองเริ่มออกไปเผชิญกับสถานการณ์ที่เคยหวาดกลัวและลองทำกิจกรรมที่เคยหลีกเลี่ยงโดยเริ่มทีละน้อยๆ แต่สม่ำเสมอ
  6. หากิจกรรมทำให้ตนเองผ่อนคลาย เพื่อลดระดับของความตึงเครียด

การรักษา “โรคแพนิค” โดยแพทย์แผนจีน

สำหรับการรักษาโรคแพนิคของแพทย์แผนจีนนั้น จะใช้วิธีในการรักษาโรคโดยเน้นหลักการปรับสมดุลร่างกายแบบองค์รวม ร่วมกับการวินิจฉัยแยกแยะและรักษาตามกลุ่มอาการของโรค โดยสาเหตุของอาการแพนิคนั้น แพทย์จีนมองว่าเกิดจากการทำงานของอวัยวะภายในขาดความสมดุล การเคลื่อนไหวของชี่ในร่างกายผิดปกติ จึงทำให้จิตใจไม่สงบ และตำแหน่งของการเกิดโรคแพนิคหรือกลุ่มอาการวิตกกังวลมักจะเกี่ยวข้องกับหัวใจ ตับ ปอด ม้าม และไต

ขั้นตอนการตรวจรักษาโรคแพนิค โดยแพทย์แผนจีนมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ?

  • แพทย์จะซักประวัติอาการ รวมถึงประวัติการรักษาในอดีต ทั้งจากผู้ป่วยและญาติ
  • ตรวจร่างกาย จับชีพจร (แมะ) และดูลิ้น
  • แนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
  • นัดหมายเข้ารับการรักษาโดยแพทย์แผนจีน

วิธีการรักษาโดยแพทย์แผนจีนทำได้อย่างไรบ้าง ?

  •  ฝังเข็ม
  • กัวซา
  • ครอบแก้ว
  • ยาสมุนไพรจีน

บทความโดย แพทย์จีนจุฑารัตน์ บุญสุธารมณ์ แพทย์แผนจีนประจำโรงพยาบาลเอกชัย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ แผนกแพทย์แผนจีน รพ.เอกชัย

โทร.034-417999 หรือ 1715 ต่อ 201