ภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือ ภาวะพิษแห่งครรภ์ (Pregnancy-induced Hypertension หรือ Pre-eclampsia/Preeclamsia ซึ่งศัพท์ดั้งเดิม คือ Toxemia of pregnancy) หมายถึง ภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตร (มม.) ปรอท ร่วมกับมีภาวะโปรตีน หรือไข่ขาวในปัสสาวะในสตรีตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ ไปจนกระทั่งหลังคลอด 1 สัปดาห์ และภายหลังคลอดภาวะครรภ์เป็นพิษจะค่อย ๆ หายไปเอง

สาเหตุของครรภ์เป็นพิษคืออะไร?

สาเหตุของการเกิดครรภ์เป็นพิษ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันหรือฮอร์โมนต่อมไร้ท่อบางตัว หรือจากกรรมพันธุ์ สันนิษฐานว่าเกิดจากความไม่สมดุลกันระหว่างโปรตีนบางตัวที่สร้างขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในสตรีตั้งครรภ์ ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างหลอดเลือดไปเลี้ยงรกได้เพียงพอ บางส่วนของรกจึงขาดเลือด เกิดการตายของเนื้อรกบางส่วน มีการปล่อยสารที่ส่งผลให้หลอดเลือดทั่วร่างกายของสตรีตั้งครรภ์หดตัว

ครรภ์เป็นพิษแบ่งตามความรุนแรงเป็น 2 ชนิด คือ

  1. ชนิดรุนแรงน้อย คือ สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษโดยมีความดันโลหิตสูงไม่เกิน 160/110 มิลลิเมตรปรอท หรือมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน หรือไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น เกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย และทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์
  2. ชนิดรุนแรงมาก คือ ภาวะครรภ์เป็นพิษที่มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 160/110 มิลลิเมตรปรอท หรือมีโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 2 กรัมต่อวัน หรือมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะมาก ตาพร่ามัว มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชักขณะตั้งครรภ์โดยที่ไม่เคยมีอาการชักมาก่อนตั้งครรภ์ (Eclampsia) และอาจเกิดภาวะเลือดออกในสมองจนมีอันตรายต่อชีวิตได้

อาการของครรภ์เป็นพิษมีอะไรบ้าง?

  1. มีความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท
  2. ตรวจพบโปรตีนไข่ขาวในปัสสาวะ
  3. น้ำหนักเพิ่มมากอย่างรวดเร็ว
  4. มีอาการบวมตามใบหน้า มือ ข้อเท้าและเท้า
  5. ปวดศีรษะโดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย หน้าผาก โดยรับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น
  6. มีตาพร่ามัว อาจตาบอดชั่วขณะได้
  7. จุกแน่นหน้าอก หรือบริเวณลิ้นปี่
  8. หากอาการรุนแรงอาจมีอาการชักกระตุกทั้งตัว เกิดเลือดออกในสมองได้

ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้จากครรภ์เป็นพิษ คือ

1. ภาวะแทรกซ้อนต่อมารดา

  • เสียชีวิต มักเกิดจากมีเลือดออกในสมองจากหลอดเลือดในสมองแตก
  • เกิดอาการชัก
  • ตาบอด อาจเป็นชั่วคราว หรือถาวร
  • มีภาวะน้ำท่วมปอด
  • มีเลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ จากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

2. ภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์

  • มีภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์
  • มีภาวะน้ำคร่ำน้อย ส่งผลให้ทารกถูกกดเบียดทับจากน้ำหนักมารดา ส่งผลให้มีการเจริญเติบโตผิดปกติได้
  • มีการคลอดก่อนกำหนด
  • มีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
  • ทารกเสียชีวิตในครรภ์
  • หัวใจทารกเต้นช้า จากการขาดออกซิเจน

ศูนย์สูตินรีเวช และผู้มีบุตรยาก ชั้น 2 โทร. 034-417-999 ต่อ 221, 222, 158 หรือสายด่วน 1715