ต้อกระจก เป็นภาวะที่แก้วตาหรือเลนส์ตา (Lens) ภายในลูกตามีลักษณะขุ่นขาวขึ้น จากปกติที่มีลักษณะโปร่งใสเหมือนกระจก เมื่อแก้วตาขุ่นขาวก็จะมีลักษณะทึบแสง ไม่ยอมให้แสงผ่านเข้าสู่ลูกตาไปรวมตัวที่จอตา (เรตินา) ทำให้เกิดอาการตาฝ้าฟางหรือมืดมัว
สาเหตุ
ส่วนใหญ่ (ประมาณ 80 %) เกิดจากภาวะเสื่อมตามวัย คนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะเป็นต้อกระจกแทบทุกคน แต่อาจเป็นมากน้อยต่างกันไปเรียกว่า ต้อกระจกในคนสูงอายุ (Senile cataract) หรืออาจเกิดจาก โรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน ดวงตาได้รับการกระทบกระแทก ถูกแสงแดดจัดเป็นประจำ หรือการใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์
การรักษา
การรักษา ได้แก่การรักษาด้วยการผ่าตัดและการรักษาด้วยยา เป็นต้น โดยการรักษาด้วยการผ่าตัดมี 2 ชนิดได้แก่
- Extra capsular cataract exfraction with intraocular lens implantation
- เป็นการผ่าตัดเข้าไปในลูกตา เปิดถุงหุ้มเลนส์ เอาเลนส์ที่ขุ่นออกทั้งอันโดยเหลือถุงหุ้มเลนส์เอาไว้ และใส่เลนส์เทียมเข้าไปทดแทน เข้าไปใน ถุงหุ้มเลนส์นั้น แล้วจึงเย็บปิดแผล ปัจจุบันนิยมทำวิธีนี้ในรายที่ต้อกระจกมีลักษณะขุ่นแข็ง
- Phacoemulsification and aspiration with intraocalar lens implantation
-
- วิธีนี้กำลังนิยมมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน เป็นการผ่าตัดด้วยแผลขนาดเล็กกว่าวิธีแรก แผลที่ผ่าตัดเข้าในตาอาจมีขนาดประมาณ 3 มม. และจะเจาะถุงหุ้มเลนส์ด้านหน้า แล้วใช้เครื่องอัลตร้าศาวด์เป็นตัวสลายเนื้อ เลนส์ให้เป็นชิ้นเล็กๆแล้วค่อยดูดออกมา
(วิธีแรก เป็นการผ่าตัดเอาเลนส์ออกมาเป็นชิ้นใหญ่ ชิ้นเดียว ขนาดของแผลจึงกว้างกว่าวิธีนี้มาก) จากนั้นจึงใส่เลนส์เทียมเข้าไปทดแทนและอาจจะเย็บปิดแผลหรือไม่เย็บก็ได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของแผล การผ่าตัดทั้ง 2 วิธี หลังผ่าตัดควรนอนพักในโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 คืน โดยเฉพาะรายที่มี โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น กรณีไม่พักในโรงพยาบาลหลังผ่าตัด แพทย์จะนัดมาเปิดตาในวันรุ่งขึ้น
การรักษาโดยทางเลือกอื่น
- รักษาด้วยยา มักใช้ในกรณีที่เริ่มเป็นน้อยๆ โดยจะต้องหยอดยาวันละ 3 – 4 ครั้ง เป็นเวลาหลายๆ เดือน ผู้ใช้ยาบางรายเข้าใจผิดว่า หยอดแค่ 2-3 อาทิตย์แล้ว จะเห็นชัดดี เหมือนกับการกินยาแก้หวัด หรือโรคปวดหัวตัวร้อนทั่วไป ซึ่งจริงๆแล้ว ยานี้เห็นผลช้ามากและในบางคนถึงหยอดไปก็ไม่ได้ช่วยให้เห็นชัดขึ้น
- วิธีอื่นๆ การมองไม่ชัดของคนเราแต่ละคน อาจมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น มีต้อกระจกร่วมกับสายตาสั้นหรือมีโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ ดังนั้น การใช้แว่นสายตา หรือแก้ไขภาวะจอตาเสื่อมอาจจะช่วยในการมองเห็นให้ดีขึ้น ถึงแม้จะไม่ได้รักษาต้อกระจกโดยตรงก็ตาม
ความเสี่ยงและผลข้างเคียงของการผ่าตัดต้อกระจก
- อักเสบติดเชื้อหลังผ่าตัด
- เลือดออกหลังผ่าตัด พบน้อยมาก ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวของผู้ป่วย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเลือด การรับประทานยาละลายลิ่มเลือด
- จอประสาทตาหลุดลอก พบได้ในคนที่สายตาสั้นมากหรือเบาหวานขึ้นตา
คำแนะนำเรื่อง ผ่าตัดต้อกระจก
การปฏิบัติตัวก่อนผ่าตัด
- อาบน้ำ สระผมให้สะอาดก่อนวันผ่าตัด
- อาหารเช้าควรรับประทานอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม
- รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
- ไม่ควรแต่งหน้าหรือทาขอบตาในวันผ่าตัด
- ในวันผ่าตัดควรมีญาติมาด้วย เพื่อช่วยเหลือขณะกลับบ้าน เพราะผู้ป่วยจะถูกปิดตา 1 ข้าง
กิจวัตรประจำวันหลังทำการผ่าตัด 2 – 4 สัปดาห์
- หลังผ่าตัดในวันแรก ลุกเข้าห้องน้ำ รับประทานอาหารได้ (ควรรับประทานอาหารอ่อน งดอาหารที่เหนียวมากๆ และบุหรี่ เหล้า)
- ไม่ก้มหน้าหรือนอนคว่ำหน้า ไม่ยกของหนัก ควรงดเล่นกีฬาที่ออกแรงมากๆ
- หลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้ติดเชื้อ เช่น ทำสวน รดน้ำต้นไม้ ทำความสะอาดบ้าน เล่นกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
- ไม่ล้างหน้า 2-4 สัปดาห์ โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าแทน สามารถสระผมโดยนอนหงายและใช้ผ้าสะอาดปิดบริเวณดวงตา
- อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ได้ และควรหยุดพักเมื่อแสบตา
- หยอดตาตามเวลา ต้องล้างมือให้สะอาดก่อนหยอดยาทุกครั้ง
- ในตอนกลางวันสามารถสวมแว่นกันแดด หรือแว่นตาเดิมที่ใช้อยู่ได้ แต่ในตอนกลางคืนก่อนเข้านอน (รวมทั้งนอนกลางวัน) ต้องครอบตาก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันการขยี้ตาขณะนอนหลับ
อาการที่ควรกลับมาพบแพทย์ ก่อนวันนัด
- ปวดตามากขึ้น
- ตาแดงมากขึ้น
- มีขี้ตามากผิดปกติ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ตา หู คอ จมูก ชั้น 2 โรงพยาบาลเอกชัย โทร. 1715 หรือ 034-417-999 ต่อ 277, 278