ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) คือ กลุ่มอาการปวดเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณหลัง คอ บ่าทั้งสองข้าง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปถึงบริเวณศีรษะ ชาฝ่ามือ หรืออาจมีอาการนิ้วล็อกได้ อาการเหล่านี้มักมีสาเหตุมาจากการนั่งทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าเดิมๆ ซ้ำๆ หรืออยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน ไม่มีการขยับเคลื่อนไหวร่างกายนานหลายชั่วโมง จึงทำให้มีอาการปวดเรื้อรัง ซึ่งโรคออฟฟิศซินโดรมนี้ถือเป็นโรคยอดฮิตของกลุ่มคนในวัยทำงาน เพราะพนักงานออฟฟิศส่วนมาก จะมีพฤติกรรมในการนั่งทำงานนานวันละประมาณ 6-8 ชั่วโมง

ออฟฟิศซินโดรมในมุมมองของแพทย์แผนจีน

สาเหตุของออฟฟิศซินโดรมหรือกลุ่มอาการปวดเรื้อรังตามหลักของศาสตร์การแพทย์แผนจีนนั้น จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาการ 痹症 (ปี้เจิ้ง) ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในร่างกาย สาเหตุจากปัจจัยก่อโรคภายนอกร่างกาย ได้แก่ ลม ความเย็น ความชื้น เลือดพร่อง ชี่พร่อง และเลือดคั่ง สาเหตุจากปัจจัยก่อโรคภายในร่างกาย เช่น อารมณ์แปรปรวนไม่สมดุล อวัยวะภายในเกิดการทำงานการเสียสมดุล การตรากตรำทำงานหนัก การพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น ได้มากระทบต่อเส้นลมปราณ จึงส่งผลทำให้เลือดและชี่ไหลเวียนไม่สะดวก ไหลเวียนได้ช้าลง เกิดภาวะชี่ติดขัดและเลือดคั่ง จนกระทั่งเกิดอาการปวด ดังวลีดังในทฤษฎีของแพทย์แผนจีนที่ได้มีการกล่าวไว้ว่า « 不通则痛, 通则不痛 » มีความหมายว่า “การติดขัดทำให้เกิดอาการปวด เมื่อไม่ติดขัดก็จะไม่มีอาการปวด”

อาการของออฟฟิศซินโดรมมีอะไรบ้าง ?

  1. มีอาการปวด ตึง หรือเมื่อยกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน เช่น คอ บ่า ไหล่ สะบัก หลัง โดยอาการปวดมักจะปวดเป็นบริเวณกว้างๆ ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ปวดแบบชัดเจนได้
  2. อาจมีอาการปวดร้าวไปถึงบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วยได้ เช่น มีอาการปวดร้าวไปบริเวณศีรษะ มึนศีรษะ หรือไมเกรน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
  3. หากเป็นบริเวณต้นคอ อาจจะมีอาการมึนงง หูอื้อ ตาลาย ตาพร่าร่วมด้วยได้
  4. อาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงบริเวณแขนและมือได้ หากมีการกดทับเส้นประสาทนานเกินไป
  5. บางรายอาจมีอาการปวดข้อมือ นิ้วล็อกได้ หากมีการใช้มือและข้อมือหนักๆ และอยู่ในท่าเดิมนานๆ

วิธีการรักษาอาการจากออฟฟิศซินโดรมทางศาสตร์การแพทย์แผนจีนทำได้อย่างไรบ้าง ?

  1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการนั่งทำงานให้เหมาะสม
  2. ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกาย
  3. การฝังเข็ม ปรับสมดุลร่างกาย คลายกล้ามเนื้อ ลดอาการปวด ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและลมปราณ
  4. การกัวซา เพื่อขับพิษและกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและลมปราณ
  5. การครอบแก้ว ช่วยขจัดพิษจากลม ความเย็น ความร้อน ความชื้น รวมถึงช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและเส้นลมปราณที่ติดขัดได้
  6. ยาจีน โดยจะสามารถช่วยขจัดพิษจากลม ความเย็น ความร้อน และความชื้น ที่เข้ามากระทบ อีกทั้งสามารถปรับสมดุลอวัยวะภายในได้

บทความโดย แพทย์จีนจุฑารัตน์ บุญสุธารมณ์ แพทย์แผนจีน โรงพยาบาลเอกชัย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ แผนกแพทย์แผนจีน รพ.เอกชัย
โทร.034-417999 หรือ 1715 ต่อ 201