โรคไข้หูดับ หรือโรคหูดับ โรคติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis)

โรคสเตรปโตคอคคัส ซูอิส เป็นโรคที่เกิดในสุกร เกิดจากเชื้อแบคมีเรีย ที่ปกติจะมีสุกรเกือบทุกตัว ซึ่งฝังตัวอยู่ในต่อมทอนซิลของสุกร แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดโรค เว้นแต่เมื่อใดที่สุกรมีร่างกายอ่อนแอ เครียด หรือป่วยด้วยโรคที่ไปกดภูมิคุ้มกัน แบคทีเรียตัวนี้ก็จะเพิ่มจำนวน และติดเชื้อในกระแสเลือด และทำให้หมูป่วยและตายได้ในที่สุด

เชื้อโรคไข้หูดับ หรือโรคหูดับ สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ 2 ทาง

  1. จากการบริโภคเนื้อสุกร เครื่องใน หรือเลือดหมูที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุก เช่น ลาบ ลู่ ที่นิยมทำจากเนื้อหมูดิบ ๆ และใส่เลือดดิบ หรือหมูกระทะที่ปิ้งย่างไม่สุก
  2. ผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จากการสัมผัสสุกรที่เป็นโรค กลุ่มเสี่ยงที่ควรระวังคือ เกษตรกร ผู้เลี้ยงสุกร คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ คนชำแหละเนื้อ สัตว์ สัตวแพทย์ สัตวบาล

อาการ

ผู้ป่วยที่รับเชื้อโรคหูดับเข้าสู่ร่างกายแล้ว ภายใน 3 วัน จะมีไข้สูง ร่วมกับ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เวียน ศีรษะ ปวดบวมตามข้อ มีจ้ำเลือดตามตัวตามผิวหนัง ซึม คอแข็ง ชัก มีการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึกตัว จนเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดและเข้าไปสู่เยื่อหุ้มสมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบตามมา และเนื่องจากเยื่อหุ้มสมอง อยู่ใกล้กับปลายประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อจึงสามารถลุกลาม และทำให้เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียงและประสาททรงตัว ทำให้หูตึง หูดับ จนหูหนวกร่วมกับอาการเวียนศีรษะ และเดินเซตามมาได้
ซึ่งอาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากเริ่มมีอาการไข้ ในรายที่อาการรุนแรง อาจเสียชีวิตได้

การป้องกัน

  • ไม่กินเนื้อหมูที่ปรุงแบบ สุกๆ ดิบๆ
  • ไม่กินหมูที่ป่วย หรือหมูตายจากโรค
  • สวมรองเท้าบูท สวมถุงมือ สวมเสื้อผ้าที่รัดกุม ระหว่างปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับหมูทุกขั้นตอน
  • ล้างมือ ล้างเท้า ล้างตัวให้สะอาด หลังการสัมผัสหมู
  • เลี้ยงหมูตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของหมู

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.ppho.go.th/