เพื่อคำนึงถึงสุขภาพของทารกในครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรให้การใส่ใจกับอาหารที่รับประทานในช่วงตั้งครรภ์อยู่เสมอและเมื่อพูดถึงหลักการของแพทย์แผนจีนที่มีมาหลายพันปีแล้วนั้น จะมีการให้ความสำคัญของการรับประทานอาหารเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการดูแลสุขภาพ

อาหารที่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่แพทย์แผนจีนแนะนำ

  • ในระยะแรกของการตั้งครรภ์ ตั้งแต่ 1 – 13 สัปดาห์ ตัวอ่อนยังมีขนาดเล็ก ควรเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีโปรตีน โฟเลตและวิตามิน จำพวกธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ตับสัตว์ ผักและผลไม้สดเป็นหลัก
  • ระยะตั้งครรภ์ตั้งแต่ 14 – 28 สัปดาห์ ทารกจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ระบบอวัยวะต่างๆเริ่มทำงาน ร่างกายคุณแม่จึงต้องการโปรตีนเพิ่มมากกว่าคนปกติ ดังนั้น ควรเน้นการรับประทานอาหารจำพวกโปรตีน
  • อีกทั้งยังควรเสริมไอโอดีน ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อความผิดปกติทางสมอง และธาตุเหล็ก ที่ช่วยบำรุงเลือด เช่น นม เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว ผักและผลไม้เป็นหลัก
  • ระยะก่อนคลอด ตั้งแต่ 29 – 42 สัปดาห์ ทารกมีพัฒนาการของกระดูก มีการสะสมของไขมันมากขึ้น เพื่อการเพิ่มน้ำหนักให้ทารก และเพื่อให้คุณแม่มีน้ำนมมากเพียงพอ

ควรรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต โปรตีน แคลเซียม สังกะสี ไอโอดีน และโฟเลต อีกทั้งยังสามารถรับประทานอาหารจำพวกไขมันได้ในปริมาณที่เหมาะสม ควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย แต่ลดปริมาณเกลือและของหวาน รวมทั้งผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงให้น้อยลง

การบำรุงร่างกายในขณะตั้งครรภ์นั้น จะเน้นที่บำรุงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากเมื่อร่างกายคุณแม่แข็งแรงแล้ว ก็จะสามารถรับประทานอาหารได้และสารอาหารจากที่คุณแม่รับประทานเหล่านั้น จะส่งผลให้ทารกแข็งแรงสมบูรณ์ได้

อาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงและรับประทานให้น้อยลงมีอะไรบ้าง ?

  1. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น มะระ ปู ถั่วเขียว ชาเย็น เป็นต้น เนื่องจากสามารถทำให้เกิดอาการท้องเสียและกระเพาะลำไส้ไม่สมดุลได้
  2. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฤทธิ์เผ็ดร้อน หากรับประทานมากเกินไปจะส่งผลให้เกิดภาวะครรภ์ไม่สงบได้ เช่น นมแพะ อบเชย เป็นต้น
  3. หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆดิบๆ เนื่องจากสามารถทำให้ม้ามกระเพาะทำงานได้ไม่ดี เช่น ไอศกรีม สลัด ซาซิมิ เป็นต้น
  4. หลีกเลี่ยงอาหารที่สามารถทำให้เกิดการบีบรัดตัวของมดลูก เช่น กุยช่าย ลูกเดือย มะละกอดิบ ดอกอัญชัน เป็นต้น
  5. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฤทธิ์ในการช่วยหมุนเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง เช่น ซานจา ชาดอกกุหลาบ ชาดอกมะลิ ดอกคำฝอย เป็นต้น
  6. สาหร่ายทะเล ควรรับประทานแต่พอดี หากรับประทานมากเกินไปสามารถส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการของต่อมไทรอยด์ของทารกได้

ทั้งนี้ การใส่ใจดูแลสุขภาพและโภชนาการขณะตั้งครรภ์ ก็เพื่อให้คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ป่วยง่าย ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานเป็นปกติ ร่างกายสามารถส่งผ่านสารจิงและชี่ ซึ่งถือเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญสำหรับทารกในครรภ์ ให้มีพัฒนาการที่สมวัย สุขภาพแข็งแรง

บทความโดย แพทย์จีนจุฑารัตน์ บุญสุธารมณ์ แพทย์แผนจีนประจำโรงพยาบาลเอกชัย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คลินิกแพทย์แผนจีน รพ.เอกชัย

โทร.034-417999 หรือ 1715 ต่อ 201