ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่เมื่อขณะมีรอบเดือนแล้ว มักพบอาการปวดบริเวณท้องน้อย

บางรายอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดเอว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ท้องเสีย เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาการ “ปวดประจำเดือน” สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งช่วงก่อนมีรอบเดือน ขณะมีรอบเดือน หรือช่วงหลังมีรอบเดือน

สาเหตุการเกิดโรคปวดประจำเดือนทางแพทย์แผนจีน

  1. ตับและไตพร่อง ขณะมีรอบเดือนหรือหลังมีรอบเดือนมักมีอาการปวดท้องน้อยทำให้รำคาญ ชอบให้กด กดแล้วรู้สึกสบาย ประจำเดือนน้อย สีซีดจาง เวียนศีรษะ ขี้ลืม มีเสียงในหู ปวดเมื่อยเอว เข่าอ่อน ปัสสาวะบ่อย สีใส
  2. ชี่และเลือดพร่อง ขณะมีรอบเดือนหรือหลังมีรอบเดือนมักมีอาการปวดท้องน้อยทำให้รำคาญ ชอบให้กด กดแล้วรู้สึกสบาย ประจำเดือนน้อย สีซีดจางใสเหมือนน้ำ อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ใจสั่น นอนไม่หลับ ฝันเยอะ สีหน้าซีดขาว
  3. ชี่ติดขัดและเลือดคั่ง ช่วงก่อนมีรอบเดือนหรือขณะมีรอบเดือน จะมีอาการปวดท้องน้อย ไม่ชอบให้กด เจ็บสีข้าง คัดตึงเต้านม ประจำเดือนสีคล้ำ มีลิ่มเลือด เมื่อลิ่มเลือดหลุดออกมาแล้วทำให้อาการปวดท้องน้อยลดลง
  4. ความเย็นชื้นตกค้าง ปวดเย็นท้องน้อยในช่วงก่อนหรือระหว่างมีรอบเดือน ประคบร้อนแล้วรู้สึกดีขึ้น ขี้หนาว ประจำเดือนมาน้อยไม่คล่อง สีม่วงหรือดำเป็นลิ่ม ตัวเย็น แขนขาเย็น ปวดข้อ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย
  5. ความร้อนชื้นอุดกั้น ช่วงก่อนมีรอบเดือนหรือขณะมีรอบเดือน มีอาการปวดแน่นท้องน้อย ประจำเดือนมามาก สีแดงคล้ำลักษณะเหนียวข้น บางครั้งมีลิ่มเลือด มักจะมีตกขาวสีเหลืองเหนียวข้นมีกลิ่น

วิธีการรักษาทำได้อย่างไร ?

  • การฝังเข็ม สามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของของระบบต่างๆ ในร่างกาย กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ระงับอาการปวด จึงทำให้เลือดไหลเวียนสะดวกขึ้น และมดลูกคลายตัวจากการบีบรัด จึงทำให้อาการปวดลดลงได้
  • การรมยา เหมาะกับกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับความเย็น
  • ยาจีน

ควรมารักษาอาการปวดประจำเดือนในช่วงใด ?

เพื่อให้ประสิทธิภาพที่ดีในการรักษา ควรทำการรักษาทุกครั้ง ก่อนรอบเดือนมาประมาณ 7 วัน ไปจนกระทั่งถึงวันที่รอบเดือนหมด และควรรักษาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 3 เดือน

บทความโดย แพทย์จีนจุฑารัตน์ บุญสุธารมณ์ แพทย์แผนจีนประจำโรงพยาบาลเอกชัย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คลินิกแพทย์แผนจีน รพ.เอกชัย

โทร.034-417999 หรือ 1715 ต่อ 201