คือ โรคทางสายตาที่ทำให้ดวงตามองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน หรือมีระดับสายตาที่ผิดปกติ ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับดวงตาข้างเดียว และจะพบได้ในเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี

สาเหตุ

ตาเขหรือตาเหล่  (Strabismus)  เป็นปัญหาทางสายตาที่มักจะทำให้เกิดตาขี้เกียจในเด็กได้บ่อย เกิดจากดวงตาทั้ง 2 ข้างทำงานไม่ประสานกัน ทำให้มองเห็นเป็นภาพซ้อน จึงมักเลือกใช้ดวงตาข้างที่มองตรง เพื่อหลีกเลี่ยงการมองเห็นภาพซ้อนกัน ดวงตาอีกข้างไม่พัฒนาไปตามปกติ สุดท้ายกล้ามเนื้อตาข้างนั้นจึงไม่ได้ใช้งาน ขาดความสมดุล

ภาวะสายตาผิดปกติที่ต่างกันมาก  (Refractive Errors) อาจเป็นไปได้ทั้งสายตายาว สายตาสั้น หรือสายตาเอียงที่เป็นผลมาจากการหักเหของแสงที่ส่องผ่านแก้วตาผิดปกติ มักจะเป็นเหมือนกันทั้ง 2 ข้างและมีค่าสายตาใกล้เคียงกัน บางรายอาจมีภาวะค่าสายตาทั้ง 2 ข้างต่างกันมาก (Anisometropia) มีโอกาสเกิดตาขี้เกียจได้สูง เพราะแสงที่ส่องผ่านเข้าเลนส์ตามากน้อยไม่เท่ากัน ทำให้สมองเลือกตอบสนองกับดวงตาข้างที่รับแสงได้ดีกว่า ดวงตาอีกข้างจึงไม่ค่อยถูกใช้งานและพัฒนาน้อยกว่าอีกข้าง

ความผิดปกติที่ทำให้เกิดความมัวในตา  (Stimulus Deprivation Amblyopia) เป็นความผิดปกติที่เกิดได้จากมีสิ่งกีดขวางหรือบดบังการมองเห็นของดวงตา ทำให้การรวมแสงไม่ตกบนจอตา ความบกพร่องของอวัยวะรับภาพหรือแปลผลภาพ ผู้ป่วยจึงมองเห็นภาพได้ไม่ชัด เช่น เป็นต้อกระจกแต่กำเนิด จึงทำให้เลนส์แก้วตาเริ่มขุ่นมัวจนบดบังการมองเห็น บางส่วนอาจพบว่ามาจากโรคที่ทำให้หนังตาตกหรือเปลือกตาตกจนไปขัดขวางการมองเห็น

อาการของโรค

โรคนี้ค่อนข้างสังเกตได้ยาก และเด็กอาจแยกไม่ออกว่าเกิดอาการกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่ ยกเว้นในกรณีที่มองเห็นความผิดปกติจากดวงตาได้ชัดเจน ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการ ดังนี้

  • การมองเห็นของดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้างแย่ลง
  • มีอาการตาเหล่ ต้องเอียงศีรษะหรือปิดตาไว้ข้างหนึ่ง เพื่อให้มองเห็นได้ชัด
  • การกะระยะหรือวัดความห่างระหว่างวัตถุกับสิ่งอื่นๆ ทำได้ยาก
  • ดวงตาเบนเข้าด้านในหรือเบนออกด้านนอก
  • มองไม่ค่อยชัดในที่มืด ต้องหรี่ตา

การดูแลและการรักษา

แนะนำให้ผู้ปกครองหมั่นสังเกตพฤติกรรมการใช้สายตาในการเพ่งมองของเด็ก ในอายุระหว่าง 3-5 ปี และให้รีบเข้ารับการตรวจคัดกรองสายตาจากจักษุแพทย์ เพราะการตรวจพบโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยให้พัฒนาการทางด้านสายตาของเด็กเป็นไปตามวัย อย่าปล่อยให้เด็กมีอายุ เกิน 8 ปี ประสิทธิภาพในการรักษามักจะได้ผลไม่ดี

  1. การรักษาด้วยการผ่าตัด กรณีที่สามารถทำการผ่าตัดเพื่อรักษาได้ เช่น ผ่าตัดต้อกระจก เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา หนังตาตก ควรได้รับการผ่าตัดก่อน จากนั้นจึงค่อยรับการทำการพัฒนาการมองเห็น โดยการปิดตาข้างที่ดีกว่าเพื่อกระตุ้นให้ดวงตาอีกข้างที่ด้อยกว่าได้ถูกใช้งานบ้าง
  2. การรักษาโดยการใช้แว่นตาในกรณีที่สายตาขี้เกียจจากปัญหาความผิดปกติทางสายตา จะเริ่มโดยการใช้แว่นสายตาก่อน เด็กเริ่มมองเห็นชัดจากการใช้แว่น ก็ถือเป็นการกระตุ้นพัฒนาการในการมองเห็นได้
  3. การรักษาในกรณีเริ่มมีอาการตาขี้เกียจแล้วจะกระตุ้นโดยการปิดตาข้างที่ดี เพื่อให้ตาอีกข้างได้รับการใช้งาน จนกว่าสายตาทั้งสองข้างจะใช้งานได้ปกติ

ปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม : ศูนย์จักษุ โทร. 034-417-999 ต่อ 277 สายด่วน 1715

นายแพทย์ปัญชรัช ปรีชาหาญ

จักษุแพทย์ ความชำนาญพิเศษ จักษุวิทยาเด็ก และตาเข